เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกเท่าไรวันพุธนี้

ข่าวการเงินประเทศไทย

อาทิตย์นี้นักลงทุนควรจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐหรือเฟดที่จะมีในวันพุธว่า ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไปอย่างไร

หลังตลาดการเงินโลกผันผวนมากอาทิตย์ก่อนหน้ากับเหตุการณ์ในสถาบันการเงินทั้งที่สหรัฐและยุโรป และจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่และเท่าไร เป็นคําถามที่ผมถูกถามมาก

ผมเห็นว่าเฟดควรปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อ และควรไปเต็มที่เท่าที่จะทําได้เพราะอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐยังสูง แต่การตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในที่สุดอาจเป็นเรื่องจิตวิทยาตลาดมากกว่าเศรษฐศาสตร์ นี่คือคําตอบที่ให้ไปและเป็นประเด็นที่จะเขียนวันนี้

การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อย่างที่ทราบจะให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจโดยพิจารณาข้อมูลล่าสุด ซึ่งจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดคือ ภาวะตลาดแรงงานและอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐสามารถสรุปได้ดังนี้

1.เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้พูดได้ว่าอยู่ในจุดที่ธนาคารกลางสหรัฐอยากเห็น คืออยู่ใน Sweet Spot ในแง่เศรษฐกิจมหภาค กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อกําลังลดลง เศรษฐกิจชะลอ แต่ตลาดแรงงานดูเข้มแข็ง

ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ การจ้างงานใหม่ขยายตัวต่อเนื่องแต่ลดลงจากเดือนมกราคม อัตราว่างงานต่ำมากที่ร้อยละ 3.6 ขณะที่ค่าจ้างแรงงาน

ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่เฟดวิเคราะห์ว่าขับเคลื่อนแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐขณะนี้ เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เดือนต่อเดือนเทียบกับร้อยละ 0.4 เดือนก่อนหน้า

2.อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ที่ร้อยละ 6.0 อยู่ในเกณฑ์สูงแม้ปรับลดลงจากร้อยละ 6.4 เดือนมกราคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานลดเหลือร้อยละ 5 ในเดือนกุมภาพันธ์

ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อกําลังลดลงแต่เป็นไปอย่างช้าๆ และยังห่างจากอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2 มาก ที่สำคัญแรงกดดันเงินเฟ้อที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ยังเป็นค่าจ้างแรงงานในภาคบริการ ทําให้การลดลงของเงินเฟ้อจะใช้เวลาเพราะความไม่สมดุลในตลาดแรงงานที่มีอยู่

ข่าวการเงินประเทศไทย

ข้อมูลข้างต้นจึงชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐล่าสุดยังสูง จำเป็นต้องลดลงอีก ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐดูเข้มแข็งพอที่จะรองรับการปรับขึ้นต่อของอัตราดอกเบี้ยได้

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์สหรัฐสองอาทิตย์ ที่แล้วที่นำไปสู่การปิดธนาคารพาณิชย์ระดับท้องถิ่นสองธนาคาร ก็เปิดประเด็นเรื่องเสถียรภาพการเงินของประเทศ หรือ Financial Stability

และเตือนให้นึกถึงผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน

ในประเด็นนี้ต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความหวั่นไหวให้กับนักลงทุนทั่วโลกมาก แต่ทางการสหรัฐก็สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันเหตุการณ์ ทําให้ความห่วงใยเกี่ยวกับสถาบันการเงินในสหรัฐคลี่คลายลงได้อย่างรวดเร็ว

สะท้อนถึงความสำคัญที่ทางการสหรัฐให้กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของธนาคารกลางสหรัฐควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพราคาหรือ Price Stability

ในแง่การดําเนินนโยบาย ต้องเข้าใจว่าทั้งเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพการเงินเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่สามารถเลือกได้

คือถ้าเศรษฐกิจมีเสถียรภาพราคาคือมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ แต่ระบบการเงินของประเทศขาดเสถียรภาพ เศรษฐกิจก็จะไปต่อยาก

เช่นเดียวกัน ถ้าระบบการเงินของประเทศมีเสถียรภาพแต่อัตราเงินเฟ้อในประเทศสูง เศรษฐกิจก็จะมีข้อจำกัดในการขยายตัวและจะไปต่อยากเช่นกัน แนะนำข่าวเพิ่มเติม>>> ค่าเงินบาทวันนี้ 8/3/66 เปิดที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงหนัก